http://traveltour.bkkth.com
 
Tag ท่องเที่ยว, เที่ยวไทย, ฮอลิเดย์ทัวร์, ทัวร์ไทย, เที่ยวเหนือ, เที่ยวใต้, เที่ยวภาคตะวันออก, เที่ยวภาคตะวันตก, เที่ยวอีสาน, เที่ยวภาคกลาง
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
 
 

อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”) ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

        

ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่17

ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก”

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส(ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

เวลาเปิด-ปิด: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. 

             อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมโบราณสถานในจังหวัดบุรีรัมย์ได้  ได้แก่ โบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ ที่อำเภอประโคนชัย ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท 

             สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4478 2715, 0 4478 2717

 

ปรากกการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ตรง 15 ช่องประตู
ในรอบ 1 ปีนักท่องเที่ยวสามารถชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกตรง 15 ช่องประตูของปราสาทจำนวน 4 ครั้งด้วยกัน  ครั้งที่ 1 ประมาณต้นเดือนมีนาคม (พระอาทิตย์ตก) ครั้งที่ 2 เดือนเมษายน (พระอาทิตย์ขึ้น) ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน (พระอาทิตย์ขึ้น) และครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม (พระอาทิตย์ตก) ทุกช่วงเวลาสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ตรงช่องประตูประมาณ 8 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในวันนั้นด้วย สอบถามวันเวลาได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง


การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

รถส่วนบุคคล จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ

1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 208) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร

2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 23 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)

รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

แหล่งข้อมูล: thai.tourismthailand.org


 
 
Visited : 1448 times
 
Suggest travel location in this region.
 
 
 
Search travel location...
 
 
Divided by region.
 
Powered and Designed by www.holidaytour.matethai.com Created 04-06-2553