วัดช้างล้อม ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ โดยประตูด้านหน้าและด้านหลังเป็นประตูเข้าออก ส่วนประตูด้านข้างเป็นประตูหลอก(ตัน) ยอดทำคล้ายปรางค์
เจดีย์ประธานเป็นทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้งสี่ด้าน ด้านละ 9 เชือก (ยกเว้นด้านหนึ่งซึ่งเป็นบันไดทางขึ้นมีเพียง 8 เชือก) และที่มุมอีก 4 เชือก รวมเป็น 39 เชือก ช้างที่ประดับตรงมุมจะมีขนาดใหญ่ และมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ตันขาและข้อเท้า ระหว่างรูปช้างจะมีเสาประทีปสลับอยู่ ด้านหน้าช้างแต่ละเชือกจะมีพุ่มดอกบัวตูมปูนปั้นวางอยู่
ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ที่ด้านบันไดสองข้างมีโกลนลำตัวพญานาคเหลืออยู่หลังจากที่ปูนปั้นกะเทาะหลุด หายไป เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย 20 ซุ้ม หลังผนังซุ้มมีปูนปั้นรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปถูกทำลายไปคงเหลือเพียงองค์เดียวด้านทิศเหนือ บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรซึ่งประดับด้วยพระรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์
วัดช้างล้อมที่เมืองศรีสัชนาลัย ช้างมีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่น ๆ คือยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าวัดช้างล้อมนี้น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ. 1892 พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุขึ้นมาทำบูชา และเฉลิมฉลอง หลังจากนั้นจึงฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย และก่อพระเจดีย์ทับลงไป
โบราณสถานภายในวัดที่ยังมีหลักฐาน คือ วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นเป็นวิหารขนาดเล็ก ๆ 2 หลัง และ เจดีย์รายอีก 2 องค์
ข้อมูลจาก : siamfreestyle.com
|