วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีรอยปูชนียสถานที่สำคัญ คือ รอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้บนแผ่นหิน เหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี เป็นรอยพระพุทธบาทล้ำค่าซึ่งมีคุณลักษณะครบ 108 ประการ ลักษณะของรอยพระพุทธบาทคล้ายเท้าคน ถือเป็นพลังแห่งศรัทธาของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคความเชื่อและวิธีการบูชา ตามคติของคนโบราณกล่าวไว้ว่าหากได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ครบถึง 7 ครั้ง จะได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้แต่ในชาติภพนี้ อานิสงส์ผลบุญจะส่งให้ชีวิตมีความสำเร็จสมหวังในทุกประการ
รอยพระพุทธบาทรอยนี้ค้นพบโดยพรานบุญ ในรัชสมัยสมเด็จ พระเจ้าทรงธรรมพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2153 -2167 กว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 ลึก 11 นิ้ว มีหลักฐานในพงศาวดารของไทยว่า พระเถระจากอยุธยาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขา สุมนกูฏ และได้รับคำแนะนำจาก พระเถระในลังกาว่าในไทยเองก็มีรอยพระพุทธบาทอันแท้จริงซึ่งพระพุทธเจ้าได้ ประทับประทานไว้เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงมีพระดำรัสให้ทำการค้นหา จนพบในที่สุด
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงจึงโปรดให้สร้างพระมณฑปน้อยครอบรอยพระพุทธบาท โดยมีมณฑปใหญ่ครอบอีกชั้นหนึ่ง สถาปนาขึ้นเป็น มหาเจดีย์สถาน ทรงอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่งโดยรอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา สำหรับบำรุงพระพุทธบาท โปรดเกล้า ฯ ให้ตัดถนนหนทาง และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาเปรียญ และเสนาสนสงฆ์เป็นต้น ซึ่งเป็นศิลปะตั้งแต่สมัย อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ และยังมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ สูงจากพื้น 160 เซนติเมตร เมื่อครั้งที่รัฃกาลที่ 5 เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีแห่งนี้
ลักษณะของพระมณฑปวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนม พุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับมุกชั้นเยี่ยมของเมืองไทย พื้นภายในปูด้วยเสื่อเงินสาน ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสายซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริดเป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตีแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนทั้งหลาย ส่วนพระอุโบสถ และพระวิหารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท ( วิหารหลวง ) ซึ่งเป็นเก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่าอาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่าพัดยศของพระสมัยต่างๆ และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท
ข้อมูลจาก : tat.or.th
|